Krabi, 2562 เป็นผลงานกำกับร่วมของ อโนชา สุวิชากรพงศ์ จากประเทศไทย และ เบน ริเวอร์ส (Ben Rivers) จากสหราชอาณาจักร สไตล์ทางภาพยนตร์ของทั้งคู่จุดมีร่วมกันตรงที่มันมักทดลองกับเส้นแบ่งขอบเขตระหว่างเรื่องจริงกับเรื่องแต่งอยู่เสมอ Krabi, 2562 ฉายชิ้นส่วนหนึ่งของ Birth of Golden Snail งานศิลปะของ จุฬญาณนนท์ ศิริผล ในเทศกาลศิลปะ Thailand Biennale, Krabi 2018 ซึ่งถูกชาวบ้านกีดกันเพราะคนในพื้นที่มองว่าศิลปะนั้นเข้าไปลบหลู่ดูหมิ่นเจ้าที่ นอกจากนี้ศิลปะหลายๆ ชิ้นก็ถูกถ่ายออกมาให้เป็นส่วนที่ล้นเกินจากภูมิทัศน์ในพื้นที่ การเอางานศิลปะซึ่งเป็นวัตถุของคนนอกและเป็นเรื่องเล่า (narrative) ของคนต่างถิ่นที่มองกระบี่ เข้าไปจัดวางในพื้นที่ซึ่งมีเรื่องเล่าของคนพื้นถิ่นทับซ้อนกับเรื่องเล่าจากรัฐ นี่จึงเท่ากับเป็นการปะทะกันของเรื่องเล่ามากมายที่ตอบโต้กัน แต่คนที่พ่ายแพ้ก็คือปัญญาชนศิลปินซึ่งต้องยอมถอดชิ้นงานออก ความไม่เป็นเนื้อเดียวกันของเรื่องเล่าปรากฏในฉากเด็กนักเรียนที่ถูกบังคับให้ศิโรราบต่อรัฐด้วยการร้องเพลงและยืนนิ่งเคารพธงชาติ อาการอยู่ไม่สุขของเด็กนักเรียนระหว่างบทเพลงอันศักดิ์สิทธิ์ถูกบรรเลง และความขัดแย้งของการทำงานศิลปะของปัญญาชนทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงอำนาจของศิลปะกับอำนาจของรัฐที่เข้าไปปกครอง นั่นเพราะศิลปะของรัฐมีเป้าหมายคือเพื่อให้ทุกคนเหมือนๆ กัน (homogenous) ในขณะที่ศิลปินโดยปัญญาชนต้องการเรียกร้องความแตกต่างผ่านการสร้างเรื่องเล่าของปัจเจก (individualism) อันเป็นผลจากรัฐสมัยใหม่