ย้อนกลับไปในเดือนมกราคม เมื่อ 10 ปีก่อน หนังตลกเล็กๆ เรื่องหนึ่ง เปิดตัวฉายเป็นครั้งแรกในเทศกาลซันแดนซ์ เทศกาลที่สนับสนุนหนังอิสระของคนทำหนังหน้าใหม่ “Napoleon Dynamite” เป็นหนังเรื่องแรกของ จาเรด เฮสส์ ผู้กำกับที่เขียนบทเรื่องนี้ร่วมกับแฟนสาว โดยดัดแปลงมาจากหนังสั้นเรื่อง Peluca (มาจากภาษาสเปน ที่มีความหมายว่า วิก) ที่จาเรดเคยทำไว้สมัยเรียนมหาวิทยาลัยบริกแฮมยัง ยูนิเวอร์ซิตี้ ซึ่งถ่ายด้วยฟิล์มขาวดำ 16 มิลลิเมตร และเมื่อมีโอกาสได้ทำหนังยาว จอน เฮเดอร์ เพื่อนสนิทของจาเรดที่เป็นนักแสดงนำในเวอร์ชั่นหนังสั้น ต้องจ่ายเงินเป็นจำนวน 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ ให้กับจาเรด เพื่อมารับบทเป็น นโปเลียน ไดนาไมต์ ตัวละครนำในเรื่อง ซึ่งถูกใช้เป็นชื่อหนัง ในอีก 5 เดือนถัดมา Napoleon Dynamite ก็ลงโรงฉายให้ผู้ชมทั่วไปได้ดูกัน แต่ก็ยังเข้าฉายแบบจำกัดโรง จนกระทั่งในเดือนสิงหาคม หนังก็เปิดตัวฉายในวงกว้าง ซึ่งครั้งนี้ความสำเร็จอย่างถล่มทลายก็ถาโถมเข้าใส่ เมื่อทำรายได้ทั่วโลกไปกว่า 46 ล้านดอลลาร์ ทั้งๆ ที่ใช้ทุนสร้างไปเพียง 4 แสนดอลลาร์เท่านั้น ที่สำคัญมันได้กลายเป็น "หนังคัลต์" ที่มีแฟนเดนตายนิยมชมชอบกันอย่างบ้าคลั่ง ความคูล เท่ เก๋ เพี้ยน ฯ และอีกมากมายหลายสมญานามที่แฟนๆ Napoleon Dynamite ต่างพาตั้งให้หนังเรื่องโปรดของพวกเขา ฉายาทั้งหมดทั้งมวลล้วนมาจากเสน่ห์ในแบบ Deadpan Humour ซึ่งไม่เพียงมุกตลกหน้าตายที่มาพร้อมคาแรกเตอร์นิ่งๆ ทื่อๆ และถึงขั้นซื่อบื้อของตัวละครแล้ว พฤติกรรมหรือวีรกรรมประหลาดเพี้ยน เหมือนได้ผ่านการออกแบบ ฝึกซ้อมและลอง แสดงในหลายๆ รูปแบบ จนลงตัวกับคาแรกเตอร์ทึ่มๆ ทื่อๆ ของตัวละครเด่นๆ แต่ละคน รวมไปถึงงานกำกับภาพ ที่ตั้งเฟรมนิ่งๆ ที่กล้องแทบๆ จะไม่ขยับไปไหน เช่นเดียวกับงานตัดต่อลำดับ ที่เหตุการณ์ในแต่ละฉากตัดภาพไปแค่ไม่กี่คัท แม้กระทั่งฉากไคลแมกซ์ของเรื่อง ที่ปล่อยให้ตัวละครเคลื่อนไหวในเฟรมเพียงลำพังโดยไม่ใช้เทคนิคใดใดเข้าช่วย แต่สามารถเรียกเสียงฮือฮากลั้วหัวเราะไปด้วยอย่างได้อารมณ์ ยกเว้นบางฉากที่ใช้การเคลื่อนกล้องเพื่อเน้นย้ำการกระทำเพี้ยนๆ ของตัวละครเพื่อเรียกเสียงหัวเราะ แต่ก็เลือกใช้วิธีการที่สุดแสนเชยอย่างการซูมภาพเข้า-ออกอย่างรวดเร็ว หรือการแพนกล้องซ้ายขวาเร็วๆ เหมือนเทคนิคที่มักใช้ในหนังยุค 80’s ส่วนเนื้อหาเรื่องราวก็ไม่ได้มาแบบไฮคอนเซ็ปต์ มีหน้าหนังหรือจุดขายจุดแข็งที่ชัดเจน เพราะ Napoleon Dynamite เล่าเรื่องไปเรื่อยๆ มาเรียงๆ ของ "นโปเลียน" ไอ้หนุ่มสุดทื่อมะลื่อ หัวฟูสวมแว่นกรอบโต ใส่กางเกงยีนเอวสูงทับชายเสื้อยืดไว้เรียบร้อย แม้ลักษณะภายนอกจะดูคล้ายเด็กเนิร์ด แต่เจ้าหนุ่มแสนทึ่มรายนี้ก็หาได้มีความสามารถพิเศษใดใด หรือเรียนเก่งด้านไหนอย่างโดดเด่น เขาอาศัยอยู่กับย่าทอมบอยผู้ชื่นชอบกีฬาผาดโผนที่ไม่ได้เจียมสังขาร จนวันหนึ่งต้องเข้าโรงพยาบาลหลังออกไปขับรถเอทีวีเล่นกับเพื่อน "นโปเลียน" มีพี่ชายชื่อ "คิป" ที่บุคลิกก็ไม่ได้ผิดแผกแตกต่างไปจากเขาแต่อย่างใด อีกทั้งอายุอานามปาเข้าไปร่วม 32 ปีเข้าไปแล้วแต่ยังไม่มีงานทำเป็นหลักแหล่ง วันๆ เอาแต่แชทกับสาวในอินเทอร์เน็ต หนังเริ่มต้นด้วยการเล่าชีวิตประจำวันประหลาดๆ ของครอบครัวนี้ ไม่ว่าจะเป็นย่าของพวกเขา ที่มักจะใช้นโปเลียนเอาอาหารเช้าไปให้ตัวลามะที่เลี้ยงไว้ในสนามหญ้าหลัง บ้าน (แน่นอนว่า มันไม่เคยกินอาหารที่ย่าทำให้เลยสักครั้ง) หรือ "คิป" ที่มักจะไหว้วานน้องชายปั่นจักรยานลากสเกตบอร์ดพาเขาเข้าไปซื้อของในเมือง จนกระทั่งการมาถึงของ "เปโดร" เพื่อนร่วมชั้นคนใหม่ชาวเม็กซิโก ไม่เพียงใบหน้าไร้อารมณ์เฉกเช่นเดียวกันนโปเลียน แต่หนุ่มคนนี้ยังไว้หนวดเรียวเหนือริมฝีปาก ทั้งยังหน้าแก่เกินวัยเด็กรุ่นราวคราวเดียวกัน ส่วนย่าก็ส่งลุงริโก้ เซลส์แมนที่ขายทุกอย่างมาดูแลหลานทั้งสองระหว่างที่ตัวเองพักรักษาตัวจาก อาการบาดเจ็บ หนังเดินทางมาถึงจุดไคลแมกซ์เมื่อเปโดรตัดสินใจลงสมัครประธานนักเรียนแข่ง กับสาวสวยคนเก่งร่วมชั้นโดยมีนโปเลียนเป็นผู้ช่วย ส่วนคิปก็ได้รับการติดต่อจากสาวที่เขาแชทด้วยว่าเธอกำลังจะเดินทางมาหา ขณะที่ลุงเปโดรก็เริ่มจุ้นจ้านวุ่นวายกับเรื่องส่วนตัวของพี่น้องทั้งสอง แม้ความพีคของหนังส่วนหนึ่งมาจากฉากอันโด่งดังที่นโปเลียนโชว์ความสามารถอัน น่าทึ่งของเขาจนทำเอานักเรียนทั้งห้องประชุมตกตะลึงในตอนท้ายๆ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เอาเข้าจริงแล้ว Napoleon Dynamite เป็นหนังที่สามารถสร้างเสน่ห์ในตัวเองจากทุกๆ องค์ประกอบ ทำให้ดูสนุกเพลิดเพลินไปตลอดทั้งเรื่อง จนสุดท้ายก็กลายเป็นที่ชื่นชอบหลงใหลคลั่งไคล้ของแฟนหนังกลุ่มหนึ่ง และเปลี่ยนสถานะกลายเป็นหนังคัลต์ ที่มีแฟนจดจำและต่อยอดไปสู่ธุรกิจอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตตัว figure ของนโปเลียนให้แฟนหนังได้เก็บสะสมหรือการนำมาสร้างเป็นซีรีส์การ์ตูนแอนิเม ชั่นออกฉายทางทีวีซึ่งก็ได้ทีมนักแสดงชุดเดิมมารับหน้าที่พากย์ให้ทั้งหมด มีการจัดเทศกาลนโปเลียนไดนาไมต์เฟสติวัลในทุกๆ ฤดูร้อนตั้งแต่ปี 2004-2008 ในเมืองเพรสตันและละแวกใกล้เคียง ซึ่งเมืองนี้ถูกใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำตลอดทั้งเรื่อง โดยกิจกรรมในงานก็มีตั้งแต่แข่งกินมันฝรั่ง แข่งขว้างลูกบอล (ซึ่งในหนังเป็นกิจกรรมที่นโปเลียนชอบแอบเล่นในระหว่างเรียนพละและหลังเลิก เรียน) ประกวดคนหน้าเหมือนและการเลียนแบบฉากและตัวละครต่างๆ ที่อยู่ในหนัง ความเพี้ยนของ Napoleon Dynamite เกิดขึ้นตั้งแต่ฉากแรก ไปยันเอนเครดิตของหนังเลยทีดียว เพราะได้รับการบันทึกว่าเป็นหนังที่มีเอนด์เครดิตยาวที่สุดเรื่องหนึ่งใน ประวัติศาสตร์ เนื่องจากต้องขึ้นรายชื่อนักเรียนที่มาเล่นเป็นตัวประกอบให้ครบจำนวน 181 คน ที่ปรากฏตัวในหนัง